ขมิ้นชัน สมุนไพรรักษาโรค ในระบบทางเดินอาหาร
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longga L.
ชื่อสามัญ : Turmeric
ลักษณะ : เป็นไม้ล้มลุก สูง 30-95 ซม. มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้า” เนื้อในหัวมีสีเหลืองอมส้ม หรือสีเหลืองจำปาปนสีแสด มีกลิ่นหอม ส่วนลำต้นเหนือดินคือกาบก้านใบที่เรียงซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม ใบเป็นใบเดี่ยว กลางใบมีสีแดงคล้ำ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ลักษณะใบรูปใบหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม กว้าง 12-15 ซม.ดอก ออกเป็นช่อ รูปทรงกระบอก ใบประดับสีเขียวอ่อนๆ หรือสีขาว กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ตรงปลายช่อดอกจะมีสีชมพู ผล รูปกลมมี 3 พู
ประโยชน์ทางยา
เหง้า : มีกลิ่นหอม มีฤทธิ์ลดการอักเสบ และ มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี และในเหง้ายังมีสารสีเหลืองส้มที่เรียกว่า “เคอร์คูมิน” สารสกัดด้วยเอทานอลจากเหง้าสด มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านอนุมูลอิสระ ขมิ้นชันไม่มีพิษเฉียบพลัน มีความปลอดภัยสูง ขมิ้นชัน เพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยขยายหลอดลม และเป็นสมุนไพรรักษาโรคภูมิแพ้ แก้ไข้เรื้อรัง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะและโลหิต แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ผื่นคัน แก้โรคเหงือกบวม แก้บิด, น้ำคั้นจากเหง้าสดทาแก้แผลถลอก แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ลดการอักเสบ ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
น้ำมันหอมระเหย : มีสรรพคุณบรรเทา อาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุดเสียด แก้โรคผิวหนัง ขับลม แก้ผื่นคัน แก้ท้องร่วง ในตำรายาจีนใช้เป็นยา แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดประจำเดือน
ผงขมิ้น : เคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด ผสมน้ำทาผิว แก้เม็ดผดผื่นคัน
ขมิ้นสด : โขลกกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใสพอกบาดแผลและแก้เคล็ด ขัด ยอก เผาไฟแล้วโขลกรวมกับน้ำปูนใส รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด
แหล่งที่มาของข้อมูล
ข้อมูลพืชสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล